อาการหลังรักษารากฟัน

อาการข้างเคียงของการรักษาที่ทันตแพทย์ไม่อยากให้เกิดคืออาการปวดหลังการรักษา เพราะส่วนใหญ่ผู้รับบริการหวังอย่างยิ่งว่าเมื่อรักษารากฟันแล้วจะต้องหายจากการปวดเป็นอันดับแรก

หลังการรักษารากฟันจะมีอาการปวดซึ่งแบ่งได้ 2 กรณีคือ การปวดระหว่างการรักษาและการปวดหลังจากการรักษาเสร็จสิ้นไปแล้ว

     การปวดระหว่างการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรักษาครั้งแรก เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ อาจร่วมกับการบวมของเหงือกด้วย  ส่วนมากแล้วอาการปวดหลังการรักษาครั้งแรกมักเกิดกับการรักษารากฟันในฟันที่มีอาการปวด หรือเริ่มมีอาการปวด (Acute pulpitis) หรือกำลังเริ่มจะมีการอักเสบ   แต่จะไม่ค่อยเกิดในฟันที่ตายแล้ว (pulp necrosis)  หรือฟันที่มีตุ่มหนอง (periapical abscess) หรือฟันที่เพิ่งทะลุโพรงประสาท  ส่วนใหญ่ทันตแพทย์มักจะระมัดระวังในเรื่องการกำจัดเส้นประสาทฟันให้หมด และการขยายคลองรากฟันและการล้างคลองรากฟันโดยไม่ให้เกิดแรงดันที่จะทำให้เศษสิ่งสกปรกที่ล้างทำความสะอาดดันเข้าไปในบริเวณปลายราก แต่บางครั้งก็อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งถ้าคิดว่ามีความเสี่ยง ทันตแพทย์อาจจะต้องเปิดโพรงที่กรอไว้ก่อนเพื่อให้เกิดการระบาย แล้วจึงใส่ยา และปิดโพรงในครั้งต่อไป แต่จะทำให้การรักษาใช้เวลานานขึ้น เนื่องจากการเปิดโพรงไว้จะทำให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคในน้ำลายได้

     อาการปวดหลังการรักษา ถ้าไม่ปวดมากนัก ทันตแพทย์จะทำการล้างทำความสะอาด ขยายรากฟันหรือกำจัดเส้นประสาทให้หมด ซึ่งจะทำให้หายปวดได้ หากมีอาการบวมด้วย อาจต้องเปิดระบายและให้ยาแก้อักเสบร่วมด้วย หลังการรักษาอาจมีอาการปวดซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ  เช่น คลองรากฟันยังไม่สะอาดแล้วอุด ขยายคลองรากฟันไม่หมดหรือฟันแตก การรักษาอาจต้องมีการรื้อและรักษาใหม่ หรือผ่าตัดปลายรากฟันหรือถ้ารักษาไม่ได้ อาจต้องถอนฟันในที่สุด

อย่างไรก็ตาม การรักษารากฟันเป็นการรักษาที่ยุ่งยากซับซ้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษารากฟันกรามซึ่งมีจำนวนคลองรากฟัน 3-4 โพรง ทำให้ยากต่อการรักษา ทั้งหมดต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากผู้ป่วยในการมาตามนัด และทันตแพทย์ที่เชี่ยวชาญ มีความละเอียดรอบคอบ

ขอขอบคุณข้อมูลเรื่อง “อาการหลังรักษารากฟัน” จาก เด็นทัลบลิส พระรามสาม

อาการที่ต้องรักษารากฟัน

ปกติเนื้อเยื่อในโพรงฟัน สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคและต้านทานการอักเสบที่ไม่รุนแรงได้ แต่เมื่อการอักเสบหรือการติดเชื้อรุนแรงขึ้น เช่น กรณีที่ฟันผุลึกมาก ฟันถูกกระแทกแรงๆจากอุบัติเหตุ ฟันที่แตกหักไปจนทะลุเข้าไปในโพรงฟัน เนื้อเยื่อในโพรงฟันก็จะถูกทำลาย และเน่าตายไปในที่สุด

เงาดำที่ปลายรากฟัน

สำหรับบางคนในภาพเอกซเรย์จะเห็นว่า มีเงาดำที่ปลายรากทั้งๆ ที่ฟันซี่นั้นยังไม่มีอาการอะไรเลย บ่อยครั้งที่ เรามักจะพบว่า กรณีที่ทันตแพทย์อุดฟันอยู่ซี่หนึ่งและจะทำการตรวจการผุของฟัน เมื่อถ่ายภาพเอกซเรย์ผลก็คือ พบว่ามีเงาดำอยู่ที่ปลายรากฟันอีกซี่หนึ่ง เงาดำที่ปลายรากฟันนั้นหมายถึง เชื้อโรคนั้นมีการลุกลามไปจนกระทั่งทำลายส่วนของเนื้อเยื่อทั้งโพรงประสาท ฟันแล้ว ลักษณะแบบนี้ก็จำเป็นที่จะต้องรักษารากฟัน แม้ว่าจะไม่มีอาการใดๆ ก็ตาม  และส่วนใหญ่จะมีทางเปิดของหนองออกมาด้วย

ถ้าเป็นฟันตายทุกกรณีต้องรักษารากฟัน

ฟันตาย ก็คือ ฟันที่ไม่มีชีวิต ไม่มีอาการ ฟันเปลี่ยนสี หรืออาจมีตุ่มหนองด้วย ส่วนฟันที่ยังมีชีวิตอยู่ กรณีที่ต้องรักษารากฟัน ทันตแพทย์ต้องเป็นผู้วินิจฉัย ถ้ามีอาการแบบปวดตุบๆ เวลากลางคืน ก่อนนอน และอาการปวดทวีความรุนแรงมากขึ้น ก็มักจะพบว่าฟันซี่นั้นเป็นอาการประสาทฟันอักเสบที่ไม่สามารถกลับคืนเป็นปกติได้ ฟันประเภทนี้ต้องทำการรักษารากฟันในฟันที่มีชีวิต

ในบางครั้งฟันดูแล้วไม่ผุ แต่คนไข้มีอาการนอนกัดฟันรุนแรง หรือมีอาการเคี้ยวที่ค่อนข้างรุนแรง กัดเค้นฟัน ใช้ฟันรุนแรงมาก ซึ่งเป็นการไปรบกวนโพรงประสาทฟัน ฟันจะเริ่มมีอาการร้าวก่อน แล้วก็มีการแทรกซึมของเชื้อโรคเข้าไปในส่วนของโพรงประสาทฟันได้ แบบนี้ก็อาจจะต้องทำการรักษารากฟัน ถ้าหากว่าฟันซี่นั้นเราไม่สามารถแก้ไขสิ่งที่มากระตุ้นได้ทันท่วงที  เช่น มีจุดสบสูง และสบฟันกระแทกอย่างรุนแรง หรือการที่อะไรก็ตาม ถ้าเราไม่สามารถเอาสิ่งกระตุ้นเหล่านี้ออกไปได้ทันท่วงที ก็หมายความว่าจะทำให้มีการแทรกซึมของเชื้อโรคนั้นเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง จนถึงขั้นต้องรักษารากฟัน

เพราะฉะนั้นจึงแนะนำว่าให้ทันตแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยจะดีที่สุด  ถ้าหากมีอาการใดๆ ก็ตามที่ส่งผลว่ามีอาการผิดปกติแล้ว เช่น เสียวฟัน หรือกัดแล้วเจ็บ หรือเคาะแล้วรู้สึกคันๆ นั่นแสดงว่า “ควรรีบไปพบทันตแพทย์”

การปล่อยฟันที่เป็นโรคทิ้งไว้นาน ๆ ยังทำให้เชื้อโรคออกไปทำลายกระดูกรอบๆ ฟัน ซึ่งทำให้เกิดอาการเคี้ยวเจ็บ หรือ เกิดตุ่มหนองทั้งภายในช่องปาก หรือบริเวณใบหน้า ในกรณีที่กระดูกรองรับฟันถูกทำลายไปเป็นจำนวนมากอาจทำให้ไม่สามารถเก็บรักษาฟันไว้ได้

ขอขอบคุณข้อมูลเรื่อง “อาการที่ต้องรักษารากฟัน” จาก เด็นทัลบลิส พระรามสาม

การป้องกันโรคฟันผุ

การป้องกันโรคฟันผุ มี 2 ระดับ

1. การป้องกันโรคฟันผุขั้นพื้นฐาน เป็นวิธีป้องกันโรคฟันผุที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ง่าย ได้แก่

     1.1 แปรงฟัน ควรรักษาช่องปากให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอด้วยการแปรงฟันทุกวันในตอนเช้าและก่อนนอน หรือทุกครั้งหลังรับประทานอาหารเพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ โดยใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์

     1.2 ใช้ไหมขัดฟันและน้ำยาบ้วนปาก หลังการแปรงฟันควรใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดตามซอกฟันด้วยอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยกำจัดคราบจุลินทรีย์บริเวณที่แปรงฟันได้ไม่ทั่วถึง และใช้น้ำบ้วนปากทันทีหลังรับประทานอาหารทุกครั้ง

     1.3 การบริโภคอาหาร ควรปรับปรุงพฤติกรรมการบริโภคอาหารหวานด้วยการลดความถี่ในการบริโภคน้ำตาล ไม่กินจุบกินจิบ และหลีกเลี่ยงขนมหวานเหนียวหนึบติดฟัน หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ให้ลองใช้วิธีนี้ คือ รับประทานอาหารชนิดอื่นโดยเฉพาะอาหารที่มีฤทธิ์เป็นด่างเพื่อละลายฤทธิ์กรด คือ อาหารประเภทโปรตีน ยกตัวอย่างเช่น ทานช็อกโกแลตที่มีถั่วหรืออัลมอนด์ ดีกว่าการทานช็อกโกแลตอย่างเดียว หรือทานก๋วยเตี๋ยวใส่น้ำตาล 1 ช้อน ในก๋วยเตี๋ยวจะมีหมู ไก่ หรือปลา ซึ่งเป็นด่างช่วยลดความเป็นกรด มีถั่วงอก ผักบุ้งช่วยขัดฟัน และยังมีน้ำช่วยเจือจางกรดอีกด้วย

     1.4 การเลือกน้ำดื่ม น้ำดื่มโดยทั่วไปจะมีแคลเซียมและแมกนีเซียมเจือปนอยู่ตามธรรมชาติ น้ำอาร์โอ(Reverse Osmosis)เป็นน้ำที่บริสุทธิ์เกินไป มีฤทธิ์เป็นกรดกัดกร่อนและดึงดูดอย่างรุนแรง หากนำมาดื่มหรือทำอาหารจะดึงแร่ธาตุออกจากอาหารและอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นแคลเซียม แมกนีเซียมและแร่ธาตุอื่นๆ ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต(จากคำบรรยายของ รศ.ดร.พิชัย โตวิวิชญ์ อดีตหัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการที่ปรึกษาสมาคมพิทักษ์ประโยชน์ผู้บริโภคและกรรมการบริหารสมาคมเคมี) และยังสรุปว่าน้ำอาร์โอยังทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ เกิดโรคปวดตามข้อ โรคคอหอยพอกหรือไฮโปโทรอยด์ โรคความดันโลหิตสูง โรคแก่ก่อนวัย ฯลฯ สำหรับประโยชน์ของน้ำบริสุทธิ์อาร์โอใช้เติมแบตเตอรี่รถยนต์หรือใช้ในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ หรือใช้ผสมยาในอุตสาหกรรมผลิตยา นอกจากนี้อาจใช้สำหรับสกัดสารพิษออกจากร่างกายในระยะเวลาสั้นๆ เป็นกรณีพิเศษ

     1.5 พบทันตแพทย์ เพื่อตรวจและรักษาสุขภาพในช่องปาก รับคำแนะนำต่างๆ ทำการเคลือบหลุมและร่องฟัน หรือให้ฟลูออไรด์เข้มข้นในเด็ก

2. การป้องกันโรคฟันผุเพิ่มเติม สำหรับผู้ที่มีฟันผุหรือ 2 ใน 3 ของกรณีต่อไปนี้

     • มีฟันผุเป็นรู ตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป
• มีฟันผุบริเวณที่ไม่ใช่หลุมและร่องฟัน ตั้งแต่ 1 แห่งขึ้นไป
• มีฟันผุรอบๆ รอยวัสดุอุดเดิม ตั้งแต่ 1 แห่งขึ้นไป

การป้องกันโรคฟันผุเพิ่มเติม ได้แก่
• ลักษณะที่ผุเป็นรูผุชัดเจน ควรพบทันตแพทย์ เพื่อเอาส่วนที่ผุออกให้มากที่สุด ทุกซี่ อุดชั่วคราว (Caries control) เพื่อควบคุมโรค และนัดมาทำการรักษาต่อในแต่ละซี่
• ถ้าลักษณะที่ผุเป็นจุดสีขาวขุ่นบนผิวฟัน (White spot ) ควรพบทันตแพทย์เพื่อทาฟลูออไรด์เฉพาะที่ และบ้วนปาก ด้วย Sodium fluoride 0.05% วันละ 1 ครั้ง
• พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพในช่องปากทุก 3-4 เดือน

ขอขอบคุณข้อมูลเรื่อง “การป้องกันโรคฟันผุ” จาก เด็นทัลบลิส พระรามสาม

อาการของฟันผุ

โรคฟันผุระยะเริ่มต้นยังไม่ก่อให้เกิดอาการเสียวหรือเจ็บปวด มีการเปลี่ยนแปลงที่ผิวฟัน เห็นเป็นจุด หรือฝ้าขาวขุ่นคล้ายชอล์ก ซึ่งถ้าสังเกตเห็นหรือตรวจพบแต่เนิ่นๆ แล้ว จะสามารถรักษาไม่ให้เกิดเป็นรูผุได้ แต่ถ้าต่อไปรักษาไม่ได้จะเกิดการทำลายของเนื้อฟันต่อไป ตามลำดับ ดังนี้คือ 

ระยะที่ 1
เริ่มเห็นเป็นรูผุที่ผิวฟันอาจมี สีเทาหรือดำ มีสีขาวขุ่นรอบๆ ระยะนี้ยังไม่พบมี อาการใดๆ

ระยะที่ 2
รูฟันที่ผุลุกลามกว้าง และลึกขึ้นเข้าสู่ชั้นเนื้อฟัน ใกล้โพรงประสาท ทำให้เกิด อาการเสียวฟัน โดยเฉพาะเมื่อกินอาหารหวาน หรือน้ำเย็นๆ

ระยะที่ 3
รูฟันที่ผุลุกลามลึกลงไปถึงโพรงประสาทฟัน ซึ่งเป็นที่อยู่ของประสาทรับความ รู้สึกทำให้ปวด เคี้ยวไม่ได้

ระยะที่ 4
การอักเสบลุกลามออกไป รอบตัวฟัน ถึงอวัยวะรอบตัวฟัน อาจเกิดฝี หนอง ฟันโยก ปวด เคี้ยวไม่ได้

เมื่อไม่สามารถรักษาฟันซี่ที่ผุไว้ได้ ต้องถอนฟันซี่นั้นออก ทำให้เกิดการต้องสูญเสียฟัน และมีปัญหาอื่นๆ ตามมาได้อีกมาก

ขอขอบคุณข้อมูลเรื่อง “อาการของฟันผุ” จาก เด็นทัลบลิส พระรามสาม

สาเหตุของการเกิดฟันผุ

ปัจจัยที่จะทำให้เกิดฟันผุจะมีอยู่ 4 สาเหตุ จากฟัน แบคทีเรีย อาหาร และระยะเวลา

สาเหตุจากฟัน
มีโรคฟันบางประเภทที่มีเกลือแร่ที่เนื้อฟันน้อยทำให้ เกิดฟันผุได้ง่าย นอกจากนั้นผู้ที่มีร่องบนฟันมากหรือลึกก็จะเกิดฟันผุได้ง่าย และผู้ที่เป็นโรคเหงือกมีเหงือกร่นทำให้ส่วน Dentin สัมผัสสภาพในฟัน Dentin จะมีเกลือแร่เป็นองค์ประกอบน้อยกว่าผิวฟันซึ่งในสภาพปากปกติก็ทำให้เกิดฟัน ผุได้(ผิวฟันปรกติจะต้องมี pH<5.5จึงจะเกิดฟันผุ)

เชื้อแบคทีเรีย
ผู้ที่มีเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวข้างต้น หากมีคราบหินปูนที่ร่องฟันมากก็จะทำให้เกิดฟันผุได้ง่าย

อาหาร
อาหารประเภทแป้งและน้ำตาลจะถูกย่อยโดยเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดกรดซึ่งหากฟันสัมผัสกรดเป็นเวลานานหรือบ่อย ผิวฟันก็จะสึกและผุ ดังนั้นจึงไม่ควรรับประทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลมาก

ระยะเวลาที่ฟันเจอกับกรด
ปรกติเมื่อรับประทานอาหารประเภทแป้งและมีเศษอาหารตกค้างบริเวณซอกฟัน เชื้อแบคทีเรียจะย่อยสลายทำให้เกิดกรด และมีการละลายของผิวฟัน แต่ปริมาณน้ำลายและเกลือแร่ในน้ำลายจะลดความเป็นกรดและเติมเกลือแร่ให้กับฟัน ดังนั้นหากรับประทานอาหารบ่อย หรือน้ำลายน้อยก็จะทำให้ฟันอยู่ในสภาพเป็นกรดนาน จะมีความเสี่ยงต่อฟันผุได้

ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่
• โรคประจำตัวที่ทำให้น้ำลายออกน้อย เช่น โรคเบาหวาน โรคเบาจืด เป็นต้น
• ยาบางชนิดที่ทำให้น้ำลายลดลง เช่น ยาแก้แพ้ ยาแก้โรคซึมเศร้า เป็นต้น
นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดทั้งฟันผุและโรคเหงือกอักเสบอีกด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลเรื่อง “สาเหตุของการเกิดฟันผุ” จาก  เด็นทัลบลิส พระรามสาม

ฟันปลอม

ฟันปลอม คือ ฟันที่มาทดแทนฟันจากธรรมชาติที่เราสูญเสียไป เพื่อช่วยให้การทำงานของช่องปากมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังช่วยให้เรามีความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้นด้วย ฟันปลอมแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

ฟันปลอมติดแน่น

     ฟันปลอมติดแน่น เป็นฟันปลอมถาวรที่ยึดแน่นในช่องปากโดยอาศัยฟันธรรมชาติซี่ที่อยู่ข้างเคียงกับช่องว่างเป็นหลักในการยึดฟันปลอม ฟันปลอมชนิดนี้ผู้ที่ใส่ไม่สามารถถอดออกมาเพื่อทำความสะอาดภายนอกช่องปากได้ ดังนั้นถ้าไม่เอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษ ฟันธรรมชาติที่เป็นฟันหลักอาจผุและไม่สามารถใช้งานเป็นหลักยึดฟันปลอมต่อไปได้หรืออาจจะต้องถอนฟันเพิ่ม

ฟันปลอมติดแน่นจะไม่ขยับหรือหลวมหลุดในขณะที่พูดหรือเคี้ยวอาหาร ทำให้ผู้ที่ใส่มีความมั่นใจ และเนื่องจากขนาดชิ้นฟันปลอมที่ค่อนข้างเล็ก จึงไม่ค่อยก่อให้เกิดความรำคาญ มีประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวค่อนข้างสูง โดยแรงจากการบดเคี้ยวจะถูกถ่ายทอดไปสู่ฟันธรรมชาติซี่ข้างเคียงที่ใช้เป็นหลักยึดฟันปลอมโดยตรง อย่างไรก็ตามฟันปลอมชนิดนี้ มีข้อเสียที่สำคัญมาก ได้แก่ การสูญเสียเนื้อฟันของฟันธรรมชาติที่อยู่ข้างเคียงที่จะต้องถูกกรอแต่งเพื่อให้มีขนาดเล็กลงเพื่อใช้เป็นฟันหลักสำหรับยึดฟันปลอม

     ฟันปลอมชนิดรากเทียม เป็นฟันปลอมชนิดถาวรติดแน่นอีกชนิดหนึ่งที่จะยึดแน่นในช่องปากเช่นกันโดยการยึดกับกระดูกภายใต้ช่องว่างที่จะใส่ฟัน การใส่ฟันชนิดนี้จะคล้ายคลึงกับการปลูกฟันธรรมชาติที่สูญเสียไปขึ้นมาใหม่ เนื่องจากจะเป็นการจำลองลักษณะของฟันเดิมทั้งในส่วนของตัวฟันและรากฟัน ฟันปลอมชนิดนี้จะมีความสวยงามและประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวจะใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติมาก เมื่อผู้เข้ารับการรักษาออกแรงเคี้ยวอาหารแรงบดเคี้ยวจะถูกถ่ายทอดไปสู่กระดูกขากรรไกรที่อยู่ข้างใต้โดยตรง

นอกจากนี้แล้วฟันปลอมชนิดนี้ค่อนข้างจะมีความคงทนแข็งแรง ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อฟันธรรมชาติและเหงือกที่อยู่โดยรอบ เนื่องจากไม่ต้องมีการกรอแต่งฟันธรรมชาติข้างเคียง ข้อเสียของฟันปลอมชนิดนี้ จะใช้เวลาทำนานกว่าฟันปลอมชนิดอื่น เนื่องจากต้องรอให้กระดูกโดยรอบยึดกับรากเทียมอย่างเต็มที่ก่อนที่ทันตแพทย์จะใส่ฟันปลอมส่วนที่เป็นตัวฟัน

ส่วนค่าใช้จ่ายของการทำรากเทียมนั้นจะสูงกว่า แต่ไม่สามารถใส่ได้ในผู้เข้ารับการรักษาทุกราย สำหรับผู้ที่มีปัญหาในการดูแลสุขภาพช่องปาก ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานบางชนิด ผู้เข้ารับการรักษาที่เคยถูกฉายรังสีรักษาในบริเวณใบหน้า ตลอดจนผู้ที่มีโรคทางระบบบางโรค และผู้ที่สูบบุหรี่ อาจส่งผลเสียต่อการยึดติดของรากเทียมได้ ดังนั้นการพิจารณาผู้ที่เหมาะสมกับฟันปลอมชนิดนี้จึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันตแพทย์ผู้ทำการรักษา และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคุยปรึกษาแผนการรักษากับผู้เข้ารับการรักษาอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจทำ

ฟันปลอมถอดได้

เป็นฟันปลอมสามารถถอดออกมาเพื่อทำความสะอาดข้างนอกช่องปากได้ มีทั้งชนิดชั่วคราวที่ทำด้วยพลาสติกและชนิดถาวรที่ทำด้วยโลหะ ข้อดีของฟันปลอมชนิดนี้ ช่วยให้ผู้ที่ใส่สามารถดูแลรักษาความสะอาดได้ง่าย ขั้นตอนในการทำไม่ยุ่งยาก มีการกรอแต่งสูญเสียเนื้อฟันธรรมชาติน้อย ไม่เสียเวลามาก และมีค่าใช้จ่ายในการทำที่ค่อนข้างต่ำกว่าฟันปลอมชนิดอื่นๆ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามการบดเคี้ยว

• แรงจากการบดเคี้ยวกระจายลงสู่ซี่ฟันทั้งหมด ฟันปลอมประเภทนี้จะมีประสิทธิภาพดีกว่าฟันปลอมถอดได้ประเภทอื่นๆ
• แรงบดเคี้ยวจะกระจายลงสู่สันเหงือกที่รองรับฟันปลอมทั้งหมด เหมาะสำหรับผู้ไม่มีฟันธรรมชาติเหลืออยู่ในช่องปากเลย
• แรงบดเคี้ยวบางส่วนกระจายลงสู่ซี่ฟันธรรมชาติบ้างและบางส่วนกระจายลงสู่สันเหงือกที่รองรับฐานฟันปลอม

อย่างไรก็ตาม รูปร่างและขนาดของฟันปลอมถอดได้จะแตกต่างกันไปตามลักษณะการสูญเสียฟันของผู้เข้ารับการรักษาและฟันธรรมชาติที่ใช้เป็นหลักยึดตะขอฟันปลอม เมื่อเปรียบเทียบกับฟันปลอมติดแน่น ฟันปลอมถอดได้จะสามารถรับแรงบดเคี้ยวได้น้อยกว่า นอกจากนี้ยังอาจมีปัญหาเรื่องความสวยงาม เนื่องจากต้องมีส่วนตะขอของฟันปลอมไปโอบเกี่ยวกับฟันธรรมชาติที่เหลืออยู่ และเมื่อใช้งานฟันปลอมไปนาน ๆ ก็อาจมีปัญหาเรื่องการหลวมขยับหรือหลุดของฟันปลอมขณะใช้งานได้ ดังนั้นเมื่อใส่ฟันปลอมไปแล้ว ผู้เข้ารับการรักษาควรกลับมาพบทันตแพทย์เพื่อตรวจและปรับแต่งแก้ไขฟันปลอมให้อยู่ในสภาพ ที่ดีพร้อมสำหรับการใช้งานอยู่เสมอ

ช่วงแรกที่ใส่ฟันปลอมใหม่ๆ ผู้รับการรักษาอาจรู้สึกไม่สบายเวลาเคี้ยวซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ของการใส่ฟันปลอม แต่จะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เนื้อเยื่อในช่องปากรวมทั้งกล้ามเนื้อกระพุ้งแก้มและลิ้นจะค่อย ๆ ปรับตัวและเคยชิน ดังนั้นช่วงแรกๆ ของการใส่ฟันปลอม ทันตแพทย์จึงมักแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนๆ จนกว่าจะชินกับฟันปลอม ส่วนการระคายเคืองหรือมีน้ำลายออกมากผิดปกติ เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงแรกๆ เช่นกัน ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ลดลงและหายไปในที่สุดเมื่อช่องปากสามารถปรับตัวเข้ากับฟันปลอม

ขอขอบคุณข้อมูลเรื่อง “ฟันปลอม” จาก เด็นทัลบลิส พระรามสาม

อาการหลังทำฟันปลอม

ในกรณีที่ผู้เข้ารับบริการได้รับการถอนฟันก่อนการทำฟันปลอม การสมานตัวของแผลและเหงือกอาจต้องใช้เวลานานถึง 4 สัปดาห์หรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละบุคคล หลังจากที่แผลหายดีแล้ว ทันตแพทย์จะใส่ฟันปลอมให้ ซึ่งจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ฟันปลอมมีความเหมาะสมกับสภาพช่องปากของผู้เข้ารับบริการและให้ความสบายมากที่สุด

โดยทั่วไปผู้เข้ารับบริการสามารถพูดคุยได้เหมือนปกติหลังสวมใส่ แต่อาจมีความรู้สึกไม่สะดวกสบายนักในขณะเคี้ยวอาหารซึ่งมักเกิดขึ้นได้ในช่วงแรกๆ หรือบางครั้งอาจเกิดได้นานถึง 2-3 สัปดาห์จนกว่ากล้ามเนื้อบริเวณกระพุ้งแก้มและลิ้นจะปรับตัวและเคยชินกับฟันปลอมใหม่ได้ ดังนั้นทันตแพทย์จึงแนะนำให้ผู้เข้ารับบริการรับประทานอาหารอ่อนในช่วงแรกๆ จนกว่าจะชินกับฟันปลอม อาการต่างๆ เช่น อาการระคายเคือง อาการปวด หรือการมีน้ำลายออกมามากกว่าปกตินั้น เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในช่วงระยะแรกของการใส่ฟันปลอม ซึ่งอาการต่างๆ จะลดลงและหายในที่สุดเมื่อช่องปากสามารถปรับเข้ากับฟันปลอมได้

ขอขอบคุณข้อมูลเรื่อง “อาการหลังทำฟันปลอม” จาก เด็นทัลบลิส พระรามสาม